เมื่อราตรีล่วงลง ออโรล่า เทพีแห่งรุ่งอรุณ ประจงปฏิบัติภารกิจซึ่งนางถือปฏิบัติมาชั่วนาตาปึ
ประตูแห่งรุ่งอรุณซึ่งทำจากเงินบริสุทธิ์ ประดับประดาด้วยทองคำและอัญมณีถูกเบิกขึ้นอีกครั้งหนึ่ง มวลดาราใหญ่น้อยหลีกลี้หนีไป แสงเงินแสงทองเรืองรองจับท้องนภา ทิวากำลังจะมาเยือนอีกครั้งหนึ่ง
สุริยเทพอพอลโลทรงสุพรรณรถเทียมสี่อาชาเสด็จออกทางบูรพาทิศ นำแสงสว่างสู่สวรรค์แลพื้นดิน ตามเส้นทางที่พระองค์เคยเสด็จอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน มิสูงหรือต่ำเกินไปในท้องนภา มิฉะนั้นแล้วสรวงสวรรค์แลโลกมนุษย์อาจไหม้เป็นผงธุลี
ชาวกรีกและโรมันต่างบูชาสุริยเทพอพอลโล เทพแห่งแสงสว่างและความซื่อสัตย์ พระองค์ยังทรงเป็นเทพแห่งดนตรี โอลิมปุส สถานสถิตของทวยเทพถูกขับกล่อมด้วยทำนองไพเราะจากพิณทองคำของพระองค์
สุริยเทพอพอลโลยังทรงเป็นเทพแห่งการพยากรณ์ เทพแห่งการธนู และเทพแห่งการรักษาพยาบาล ทรงสอนให้มนุษย์รู้จักการรักษาโรคภัยไข้เจ็บเป็นครั้งแรก
การเดินทางของพระอาทิตย์บนท้องฟ้า จากตะวันออกสู่ตะวันตก คือการเดินทางประจำวันของสุริยเทพอพอลโลและสุพรรณรถของพระองค์ ส่วนพระธนิษฐา คือเทพีอาร์เทมิส ทรงดูแลการเดินทางของดวงจันทร์ข้ามฟ้ายามราตรี
บทกวีของกรีกโบราณมักจะยกย่องให้พระองค์เป็นเทพซึ่งมีพระวรกายและพระพักตร์งดงามหมดจด เรืองรองดั่งทองคำ … ความสง่างามและกอรปด้วยพระปรีชาสามารถขององค์สุริยเทพ ได้ทำให้พระองค์เป็นที่หมายปองของเหล่านางฟ้านางสวรรค์ แม้อิสตรีปุถุชน รวมถึงเหล่านางไม้นางพราย หากได้ชมพระบารมีแล้ว ก็ยากที่จะอดใจไม่ให้แอบรักพระองค์ได้
หนึ่งในผู้ชื่นชมพระบารมีขององค์สุริยเทพ ก็คือพรายน้ำนางหนึ่ง นาม คลีติเอ นางเฝ้าหลงรักพระองค์ยิ่งนัก … เมื่อสุพรรณรถขององค์สุริยเทพเคลื่อนไปทางใด นางก็คล้อยหน้าตามไปทางนั้น เพื่อที่นางจะได้เฝ้ามองชายผู้เป็นที่รัก จากรุ่งสางยันพลบค่ำ
ถึงแม้จะรู้ดีว่าความรักของนางนั้นไม่มีทางที่จะสมหวังได้เลย นางพรายน้ำคลีติเอก็ขอมีความสุขอยู่ตรที่นางได้มีโอกาสชื่นชมพระบารมีขององค์สุริยเทพอยู่เช่นนั้น เป็นความสุขที่ไม่มีใครอาจแย่ง หรือแบ่งปันไปจากนางได้
เหตุการณ์ดำเนินไปเช่นนั้นวันแล้ววันเล่า ร่างของนางพรายน้ำคลีติเอก็เริ่มเลือนราง ด้วยหัวใจที่จวนเจียนจะแตกสลาย … สุริยเทพมิทรงทราบว่าจะปฏิบัติพระองค์ประการใดดี แต่ด้วยเห็นแก่ความรักที่นางพรายน้ำมีต่อพระองค์ และเพื่อเป็นการรักษาชีวิตของนางเอาไว้ พระองค์จึงทรงเนรมิตให้นางพรายน้ำคลีติเอ กลายเป็นดอกไม้สีเหลืองส้มสวยงาม
ดอกไม้นี้ทุกๆวันจะเฝ้ารอรับเสด็จองค์สุริยเทพในยามรุ่งอรุณ ล้วเฝ้าติดตามพระองค์ไปตลอดวันจนกระทั่งส่งเสด็จ เมื่อพระองค์ดำเนินลับขอบฟ้าในยามอัสดง
ดอกทานตะวันจึงถือกำเนิดขึ้นบนโลกในครั้งนั้นเอง …
ทานตะวันเป็นไม้สกุลหนึ่งในวงศ์ Compositae มีชื่อสกุลว่า Helianthus ซึ่งมาจากคำศัพท์ภาษากรีก 2 คำรวมกันคือ คำว่า Helios หมายถึงดวงอาทิตย์ และ anthos แปลว่าดอกไม้
ในประเทศอิตาลี ผู้คนจะเรียกดอกทานตะวันว่า Girasole ซึ่งเป็นคำมาจากภาษาละติน คือ gorare แปลว่า หมุน หรือหัน sole แปลว่า ดวงอาทิตย์
รวมแล้วก็ตรงกับชื่อในภาษาไทยว่า “ทานตะวัน” พอดี
ทานตะวันมีถิ่นกำเนิดกระจายอยู่ทั่วไปในทวีปอเมริกาเหนือ และเชื่อกันว่าเมล็กทานตะวันเมล็ดแรกที่เพาะเลี้ยงในยุโรปถูกนำเข้าจากเปรูหรือเม็กซิโก ในปี ค.ศ. 1562 และสถานที่เพาะเลี้ยงแห่งนั้นก็คือ Royal Gardens ในกรุงแมดริด
ทานตะวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Helianthus annuus มีคุณค่าอย่างมากมาย นอกจากดอกที่สวยงามแล้ว ทานตะวันยังให้เมล็ดซึ่งมีคุณภาพสูง อุดมไปด้วยสารอาหาร เมื่อนำไปสกัด ก็จะให้น้ำมันที่มีคุณภาพดี ใช้ปรุงอาหารได้
เมล็ดของทานตะวันนิยมใช้เป็นอาหารนก โดยเฉพาะสำหรับนกแก้วพันธุ์ต่างๆ
เมล็ดทานตะวันเมื่อนำมาคั่วแล้วโรยเกลือ สามารถใช้บริโภคเป็นอาหารว่าง … เหง้าของทานตะวัน Helianthus tuberosus จะนำมาต้ม เผา หรือรับประทานดิบๆก็ได้
สมัยสร้างชาติ ชาวอเมริกันนิยมใช้เหง้าของทานตะวันชนิดนี้เลี้ยงสัตว์ ซึ่งก็ได้ผลดี … ในเมืองจีน ชาวจีนนิยมปลูกต้นทานตะวันเหมือนต้นป่าน คือจะนำเส้นใยธรรมชาติที่ได้จากต้นทานตะวันมาปั่น และทอรวมกับเส้นไหม ได้เป็นแพรพรรณสวยงามอีกชนิดหนึ่ง
ในอดีตกาล ณ ดินแดนที่เป็นประเทศเปรูในปัจจุบัน ชนเผ่าอินคาที่นับถือพระอาทิตย์บูชาดอกทานตะวัน เหมือนหนึ่งเป็นตัวแทนสุริยเทพ
ดอกทานตะวันยังมีบทบาทที่สำคัญในธรรมชาติ คือ เป็นแหล่งน้ำหวานอันอุดมแก่ผึ้งและผีเสื้อ … และเหล่าแมลงก็จะช่วยผสมเกสร เพื่อดำรงเผ่าพันธุ์ของทานตะวันเป็นการตอบแทนสืบไป
ทานตะวันเป็นไม้ตัดดอกที่สวยงาม ความสดใสในช่วงวันเวลาของฤดูร้อนมักแยกกันไม่ออกจากดอกไม้ที่มีสีสวยชนิดนี้
ดอกทานตะวัน หลังจากตัดจากต้นแล้วจะมีอายุการใช้งานราว 6-10 วัน การตัดดอกมาใช้ควรทำเมื่อกลีบดอกคลี่สมบูรณ์แล้วเท่านั้น … หรือหากจะปล่อยให้ดอกแห้งคาต้น ก็จะได้ดอกแห้งที่เต็มไปด้วยเมล็ด ดูแปลกตาเมื่อนำมาใช้ประดับตกแต่ง
การขยายพันธุ์นั้น สำหรับชนิดล้มลุก (annual) ทำได้โดยการเพาะเมล็ด ส่วนชนิดหลายปี (perennial) มักนิยมตัดแบ่งเหง้าใต้ดิน
ทานตะวันเจริญเติบโตได้รวดเร็ว ทั้งยังไม่ต้องดูแลรักษามากนัก สามารถปลูกขึ้นได้ในดินเกือบทุกชนิด แต่ถ้าต้องการให้ได้ผลดี ควรให้ปุ๋ย รดน้ำ และหมั่นพรวนดินอย่างสม่ำเสมอ ทานตะวันก็จะเจริญเติบโต ให้ดอกผลในเร็ววัน
ที่สำคัญคือ ควรปลูกทานตะวันในที่ที่มีแสงแดดส่องถึงตลอดทั้งวัน เพื่อที่นางพรายน้ำคลีติเอ จะได้เฝ้ารับเสด็จสุริยเทพ ตั้งแต่พระองค์เสด็จผ่านประตูแห่งรุ่งอรุณในยามเช้า จนเสด็จลับขอบฟ้าในยามพลบค่ำ
ดั่งที่นางได้ปฏิบัติด้วยความรักอันมั่นคงมาแต่โบราณกาล ด้วย “หัวใจที่มีรักแท้นั้น .. มิรู้ลืมเลือน”
Source : นิตยสารพลอยแกมเพชร
NOTE : เมื่อคืนโพสบทความเรื่อง ... มหาวิหารตะบินยูพญา หรือ มหาวิหารสัพพัญญู (Thatbyinnyu Phaya)
ติดตามอ่านได้ตาม link oเลยค่ะ http://www.oknation.net/blog/supawan/2010/07/16/entry-2
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น